ดาต้าล็อกเกอร์ (Data Logger) สำคัญต่อระบบขนส่งสินค้าแช่แข็งอย่างไร?

ในธุรกิจโลจิสติกส์สินค้าแช่แข็ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล เนื้อสัตว์ หรือไอศกรีม สิ่งสำคัญที่สุดคือ“การรักษาอุณหภูมิให้คงที่ตลอดเส้นทาง” และนี่คือเหตุผลว่าทำไมData Logger หรือเครื่องบันทึกอุณหภูมิ/ความชื้น ถึงกลายเป็นตัวช่วยหลักที่ขาดไม่ได้ในระบบขนส่งเย็นสมัยใหม่ วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับบทบาท ความสำคัญ และวิธีเลือกดาต้าล็อกเกอร์ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ

รู้จัก Data Logger คือ

Data Logger หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เครื่องบันทึกอุณหภูมิ/ความชื้น คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น หรือแม้แต่พิกัด GPS โดยสามารถบันทึกข้อมูลเป็นช่วงเวลาแบบอัตโนมัติ เพื่อนำมาใช้ตรวจสอบย้อนหลังหรือแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์

ประเภทของ Data Logger ที่นิยมในงานขนส่งสินค้าแช่แข็ง

  • แบบ USB ใช้งานง่าย เสียบปุ๊บดาวน์โหลดข้อมูลปั๊บ
  • แบบไร้สาย (Wireless) ส่งข้อมูลผ่าน Wi-Fi หรือ Bluetooth
  • แบบต่อ Cloud เหมาะสำหรับระบบที่ต้องการติดตามหลายจุดแบบเรียลไทม์

การควบคุมอุณหภูมิในระบบขนส่งสินค้าแช่แข็งสำคัญอย่างไร?

การควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมและถูกต้อง คือ หัวใจของการรักษาคุณภาพสินค้าแช่แข็งเลยก็ว่าได้ เพราะหากอุณหภูมิหลุดออกจากช่วงที่กำหนด แม้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็อาจทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ หรือไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารนั่นเอง

สำหรับสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิอย่างเข้มงวด เช่นอาหารทะเลสดแช่แข็ง (ต้องต่ำกว่า -18°C) , เนื้อสัตว์แช่แข็ง, วัตถุดิบเบเกอรี่แช่แข็ง และไอศกรีม (อุณหภูมิควรต่ำกว่า -20°C) เป็นต้น

บทบาทสำคัญของ Data Logger ในระบบขนส่งสินค้าแช่แข็ง?

การใช้งาน Data Logger ไม่ได้เป็นเพียงแค่ใช้สำหรับการเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่ยังช่วยบริหารความเสี่ยง และสร้างน่าเชื่อถือได้อีกด้วย ดังนี้ 

1. ติดตามอุณหภูมิแบบเรียลไทม์

Data Logger ที่รองรับ Cloud สามารถส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบกลางได้ตลอดเวลา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบอุณหภูมิระหว่างทางได้แบบเรียลไทม์ หากเกิดความผิดปกติจะมีการแจ้งเตือนทันที

2. แจ้งเตือนเมื่ออุณหภูมิเกินค่าที่กำหนด

อุปกรณ์สามารถตั้งค่าช่วงอุณหภูมิปลอดภัยไว้ได้ หากมีการหลุดช่วง ระบบจะส่งสัญญาณเตือนผ่านแอปพลิเคชันหรืออีเมล

3. ตรวจสอบย้อนหลังได้

Data Logger จะเก็บข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบไฟล์ (เช่น PDF, CSV) สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงให้ลูกค้าหรือหน่วยงานกำกับดูแล เช่น GMP, HACCP หรือ อย. ได้

4. เสริมความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ

การแสดงข้อมูลการจัดเก็บสินค้าอย่างชัดเจนผ่านเครื่องบันทึกอุณหภูมิ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและคู่ค้าในระยะยาว

ตัวอย่างการใช้งานจริงของ Data Logger

กรณีศึกษา: โรงงานผลิตไอศกรีมส่งออก

  • ติดตั้ง Data Logger ไว้ในรถขนส่งทุกคัน
  • บันทึกอุณหภูมิตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางทุก 10 นาที
  • เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ลูกค้าสามารถตรวจสอบรายงานอุณหภูมิผ่านแอปพลิเคชันทันที

หากพบว่าอุณหภูมิไม่เคยเกิน -20°C ตลอดการขนส่ง ลูกค้าสบายใจ สินค้าไม่ถูกตีกลับ

เลือกเครื่องบันทึกข้อมูลยังไง? ให้เหมาะกับงานขนส่งแช่เย็น

การเลือก เครื่องบันทึกอุณหภูมิ หรือ data logger ให้เหมาะกับระบบขนส่งแช่เย็นไม่ใช่แค่เลือกแบบไหนก็ได้ เพราะแต่ละธุรกิจมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาขนส่ง ความถี่ในการใช้งาน หรือข้อกำหนดของลูกค้าและหน่วยงานกำกับดูแล ด้านล่างนี้คือปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ:

1. เปรียบเทียบแบบใช้แล้วทิ้ง vs แบบใช้ซ้ำ

เครื่องบันทึกอุณหภูมิแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับธุรกิจที่เน้นการส่งออกหรือจัดส่งครั้งเดียวแล้วไม่สามารถนำอุปกรณ์กลับมาใช้งานซ้ำได้ จุดเด่นคือราคาประหยัด ใช้งานง่าย ไม่ต้องดูแลหลังการใช้งาน ขณะที่แบบใช้ซ้ำเหมาะกับธุรกิจที่มีระบบขนส่งภายในประเทศ หรือมีการควบคุมสินค้าตลอดเส้นทาง สามารถลงทุนครั้งเดียวแล้วใช้ได้ระยะยาว เพียงแค่ต้องดูแลรักษาและเก็บคืนอุปกรณ์หลังการใช้งานแต่ละครั้ง

2. ความแม่นยำของเซ็นเซอร์

ความแม่นยำถือเป็นหัวใจของเครื่องบันทึกอุณหภูมิ ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีค่าความคลาดเคลื่อนต่ำ เช่น ±0.5°C เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้รายงานอุณหภูมิเป็นหลักฐานสำหรับการผ่านมาตรฐาน GMP, HACCP หรือการตรวจสอบจากลูกค้า

3. ความจุในการเก็บข้อมูล

เลือก data logger ที่สามารถบันทึกข้อมูลได้ต่อเนื่องและเพียงพอกับระยะเวลาขนส่ง เช่น หากการจัดส่งสินค้าของคุณใช้เวลา 30 วัน หรือ 90 วัน ก็ควรเลือกอุปกรณ์ที่รองรับการเก็บข้อมูลตลอดระยะเวลานั้นโดยไม่ต้องลบหรือรีเซ็ตกลางทาง เพราะหากข้อมูลขาดช่วง อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสินค้า

4. รองรับแอปพลิเคชันหรือระบบ Cloud

ในยุคที่การจัดการโลจิสติกส์ต้องการความรวดเร็วและแม่นยำ เครื่องบันทึกอุณหภูมิที่สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันหรือระบบ Cloud จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามข้อมูลได้จากทุกที่แบบเรียลไทม์ ลดความเสี่ยงในการรอข้อมูลย้อนหลัง และยังสามารถแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่ออุณหภูมิหลุดช่วงที่กำหนด

5.อายุแบตเตอรี่

อย่ามองข้ามเรื่องแบตเตอรี่ โดยเฉพาะงานขนส่งระยะไกล ควรเลือกอุปกรณ์ที่มีอายุแบตเตอรี่อย่างน้อย 60 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องจะสามารถทำงานได้ตลอดเส้นทางโดยไม่ดับกลางทาง ซึ่งจะส่งผลให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และอาจทำให้สินค้าไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพได้

สรุป ทำไม Data Logger ถึงจำเป็นต่อระบบขนส่งสินค้าแช่แข็ง?

Data Logger หรือ เครื่องบันทึกอุณหภูมิ/ความชื้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมคุณภาพสินค้าแช่แข็งตลอดเส้นทางการขนส่ง เพราะสามารถช่วยติดตามอุณหภูมิและความชื้นได้อย่างแม่นยำแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่าสินค้ายังคงอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาเดินทาง อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ในกรณีที่เกิดปัญหา พร้อมรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย เช่น GMP หรือ HACCP ได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ การมีรายงานจาก Data Logger ยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสให้กับธุรกิจ สร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าและลูกค้าได้อย่างยั่งยืน