ระบบปรับอากาศทำงานอย่างไร ?

หลักการพื้นฐาน

สถานะของเหลวจะดูดซับความร้อน เมื่อ สถานะของเหลวเปลี่ยนไปเป็นก๊าซ

สถานะก๊าซจะคายความร้อน เมื่อ สถานะก๊าซเปลี่ยนไปเป็นของเหลว

เครื่องปรับอากาศทำงานอย่างไร ?

เครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ ที่เราคุ้นเคยกันดี มีหลักการทำงาน โดยใช้สารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์เป็นตัวกลางในการดูดซับความร้อนภายในห้อง แล้วส่งความร้อนออกไปภายนอกห้อง โดยอาศัยกระบวนการเปลี่ยนสถานะสารทำความเย็น(น้ำยา) ให้เป็นไอ(ก๊าซ) เพื่อการดูดซับความร้อนภายในบ้านของคุณ และเปลี่ยนสถานะกลับเข้าสู่ของเหลวเพื่อคายความร้อนออกไปยังภายนอกบ้าน หลักการนี้จึงทำให้บ้านหรือห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเย็นสบายในสภาพอากาศที่ร้อน

ส่วนประกอบระบบปรับอากาศ

ระบบทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วนคือ

  1. คอมเพรสเซอร์ (Compressor)
  2. คอนเดนเซอร์หรือคอยล์ร้อน (Condenser)
  3. อุปกรณ์ควบคุมสารทำความเย็น (Expansion Valve)
  4. อีวาพอเรเตอร์หรือคอยล์เย็น (Evaporator)

คอมเพรสเซอร์ (Compressor) ทำหน้าที่ดูดและอัดสารทำความเย็น(น้ำยาแอร์) เพื่อเพิ่มอุณหภูมิและแรงดันให้สูงขึ้น และทำการส่งสารทำความเย็น ไหลผ่านไปยังคอนเดนเซอร์ (Condenser) หรือคอยล์ร้อน จากนั้นสารทำความเย็นจะไหลวนผ่านแผงคอยล์ร้อน โดยมีพัดลมช่วยระบายความร้อน จะส่งผลให้สารทำความเย็น ที่ไหนผ่านจากคอนเดนเซอร์ (Condenser) หรือคอยล์ร้อน มีอุณหภูมิลดลง แต่ความดันยังคงที่ตามเดิม และจะถูกส่งไปยังอุปกรณ์ควบคุมสารทำความเย็น (Expansion Valve) เมื่อสารทำความเย็น ไหลผ่านอุปกรณ์ควบคุมสารทำความเย็น (Expansion Valve) จะทำให้อุณหภูมิของสารทำความเย็น และความดันลดลง แล้วไหลเข้าไปสู่อีวาพอเรเตอร์ (Evaporator) หรือคอยล์เย็น โดยเมื่อสารทำความเย็น จะไหลผ่านอีวาพอเรเตอร์ (Evaporator) หรือคอยล์เย็น จะมีพัดลมค่อยเป่า เพื่อให้เกิดการดูดซับความร้อนภายในห้อง ส่งผลให้อุณหภูมิภายในห้องลดลง โดยสารทำความเย็นหรือน้ำที่ไหลผ่านไปนั้นจะนำพาความร้อนที่ดูดซับได้ออกไปในความดันคงที่ และไหลกลับเข้าไปสู่คอมเพรสเซอร์ เพื่อกระบวนการเดิมต่อไป